เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 4.เนมิราชชาดก (541)
[572] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[573] ประตูนี้เขาเรียกว่า จิตรกูฏ
เป็นที่เสด็จเข้าออกของท้าวสักกเทวราช
ประตูนี้เป็นซุ้มประตูของเทพนคร
ที่ตั้งอยู่ในที่สุดแห่งภูเขาสุทัศนะ
[574] ประตูมีรูปหลายอย่าง รุ่งเรือง
งดงามไปด้วยรัตนะนานาชนิด
สมบูรณ์ด้วยรูปเหมือนพระอินทร์ ย่อมปรากฏ
เหมือนป่าใหญ่ที่เสือโคร่งหรือราชสีห์รักษาไว้ดีแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปทางประตูนี้เถิด
ขอเชิญพระองค์ทรงเหยียบภาคพื้นอันเป็นทิพย์
(พระศาสดาตรัสว่า)
[575] พระมหาราชเสด็จประทับบนทิพยยาน
ที่เทียมด้วยม้าสินธพประมาณ 1,000 ตัว เสด็จไปอยู่
ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภานี้แล้ว
(พระเจ้าเนมิได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภาชื่อสุธรรมา จึงตรัสถามมาตลีเทพ-
สารถีว่า)
[576] วิมานที่นิรมิตไว้แล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์
เปรียบเสมือนอากาศ ส่องแสงสว่างไสว ทอสีเขียวในสารทกาล
[577] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้
เราขอถามท่าน วิมานนี้เขาเรียกว่าอะไรหนอ
น่ารื่นรมย์ใจ ปรากฏแต่ไกลทีเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :271 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 4.เนมิราชชาดก (541)
[578] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมิผู้ไม่ทรงทราบว่า
[579] วิมานนี้นั้นเป็นเทวสภา เขาเรียกชื่อปรากฏว่า สุธรรมา
รุ่งเรืองด้วยแก้วไพฑูรย์ตระการตา ที่นิรมิตไว้อย่างดี
[580] มีเสา 8 เหลี่ยมที่ทำไว้ดีแล้ว
ทุกต้นล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์
เป็นที่อยู่ของเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งมวล
ซึ่งมีพระอินทร์เป็นประธาน
[581] ประชุมกันคิดถึงประโยชน์ของเหล่าเทวดาและมนุษย์
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปสู่ทิพยสถาน
เป็นที่บันเทิงกันและกันของเหล่าเทวดาโดยทางนี้เถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[582] เทพเจ้าทั้งหลายเห็นพระเจ้าเนมิเสด็จมาถึง
ต่างพากันยินดีต้อนรับว่า
ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้วมิได้เสด็จมาร้าย
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
บัดนี้ ขอพระองค์ประทับนั่ง ณ ที่ใกล้ท้าวเทวราชเถิด
[583] ถึงท้าวเทวราชก็ทรงยินดีต้อนรับพระองค์
ผู้เป็นใหญ่แห่งชาวแคว้นวิเทหะ ทรงปกครองกรุงมิถิลา
ท้าววาสวะก็ทรงเชื้อเชิญด้วยทิพยกามารมณ์และทิพยอาสน์ว่า
[584] ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เป็นความดีแล้วที่พระองค์ได้เสด็จมาถึงทิพยสถาน
เป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาผู้บันดาลสิ่งที่ตนต้องประสงค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :272 }